เมื่อพูดถึงมรดก หลายคนคงจะนึกถึงแค่เพียงการจัดการและส่งมอบทรัพย์สินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ตายแต่เพียงด้านเดียว โดยอาจลืมนึกไปว่า หากผู้ตายก็มีหนี้สินด้วย แล้วหนี้สินนี้เป็นมรดกด้วยหรือไม่ วันนี้เราจึงจะพาท่านไปหาคำตอบ เพราะเชื่อว่าหลายคนก็สงสัยในเรื่องนี้เหมือนกัน
กรณีที่เจ้ามรดกมีหนี้สินซึ่งสร้างภาระไว้ก่อนเสียชีวิตในจำนวนที่มากกว่าทรัพย์มรดก หรือมีแต่หนี้สิน ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินใดๆ ให้แก่ทายาทเลย ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับ เช่น ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีมูลค่า 2 ล้านบาท แต่ผู้ตายมีหนี้สินอยู่ 3 ล้านบาท ดังนั้นทายาทจะต้องรับชดใช้หนี้สินในจำนวนเงินที่ไม่เกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 1 ล้านบาทที่เหลือ ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดเฉพาะบุคคลนั้น นั่นก็หมายความว่า หากผู้ตายมีแต่หนี้สิน และไม่มีทรัพย์มรดกเลย ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินนั้น แต่หากมีทรัพย์มรดกเกินกว่าหนี้สิน ทายาทต้องชดใช้หนี้สินที่มีทั้งหมดก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมรดกมาแบ่งกัน
ในส่วนของเจ้าหนี้ หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน หนี้ถือว่าเป็นมรดก โดยที่เจ้าหนี้สามารถทวงเงินกับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น หากมีหนี้มากกว่านั้น ทายาทก็ไม่ต้องจ่าย โดยเจ้าหนี้กองมรดกต้องฟ้องทายาทให้ชำระหนี้กองมรดกภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้าหนี้ได้ทราบหรือควรทราบถึงความตายของเจ้ามรดก หรือภายในกำหนด 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และต้องฟ้องทายาททุกคน จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ซึ่งหากต้องเกี่ยวข้องกับคดีมรดก ควรปรึกษาทนายผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่าง
หรือหากใครยังไม่หายสงสัย ก็ชมคลิปด้านล้างนี้ได้เลยค่ะ เพราะทนายได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ และได้ยกตัวอย่างให้ดูอย่างชัดเจน ไปชมคลิปกันเลยจ้า
ชมคลิป<<<คลิกเลย>>>
ดังนั้นเวลาที่รับมรดกมา ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าจะต้องรับภาระหนี้สินของผู้ตายมาด้วย ทายาทจึงควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามรดกที่ได้เป็นทรัพย์สิน และหนี้สินอะไรบ้าง นอกจากนี้ขอแนะนำด้วยว่าหากมีหนี้ก็ควรจะต้องบอกคนในครอบครัวหรือทายาทได้ทราบไว้ด้วย เพื่อที่จะได้ไปชดใช้เจ้าหนี้ให้เรียบร้อย และจะได้ไม่เป็นปัญหาเมื่อแบ่งมรดกไปแล้ว
ขอขอบคุณที่มาจาก: p_lawyer