ยางนาเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้นยางนาเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน นอกจากจะเป็นไม้ยืนต้นที่สูงใหญ่มากๆ แล้ว ยังมีประโยชน์อีกมากมายที่หลายๆ ท่านยังไม่ทราบ วันนี้เราจึงนำประโยชน์ของยางนามาฝาก
ความสำคัญแต่โบราณ ยาง หรือยางนา คือต้นยางที่ให้น้ำมันยางแก่คนไทยในรุ่นโบราณอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมทั้งยังเป็นต้นไม้ที่คนไทยรุ่นเก่า ท่านได้นำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยเป็นลำดับรองลงมาจากไม้สัก เป็นต้นไม้ที่ขึ้นได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตป่าดิบใกล้ๆ ลำห้วย ลำธาร
สรรพคุณทางสมุนไพร ของต้นยางนา
น้ำต้มจากเปลือก เป็นยาบำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้ตับอักเสบ และใช้ทาถู นวดขณะร้อนๆ เป็นยาแก้ปวดตามข้อ
น้ำมันยาง ใช้ผสมกับเมล็ดกุยช่ายซึ่งคั่วให้เกรียม และบดให้ละเอียด ใช้เป็นยาอุดฟัน แก้ฟันผุ
เมล็ดและใบ ต้มใส่เกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน น้ำมันยาง ผสมกับแอลกอฮอล์ รับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาวของสตรี หรือใช้จิบเป็นยาขับเสมหะก็ได้
ใบและยาง รับประทานเป็นยาขับเลือด ทำให้เป็นหมัน น้ำมันยางดิบ มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ น้ำมันยางจากต้น มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล ห้ามหนอง ใช้เป็นยาทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน และเป็นยากล่อมเสมหะ
ประโยชน์ของเนื้อไม้ เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเทา เสี้ยนตรง เนื้อไม้หยาบ แข็งปานกลาง เลื่อย ไสกบตกแต่งให้เรียบได้ง่าย จึงนิยมนำมาใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำฝาบ้าน ทำไม้คร่าว ไม้ระแนง โครงหลังคา ทำพื้น เพดาน รอด ตง และเครื่องเรือนต่างๆ ใช้ทำเรือขุด เรือขนาดย่อม ไม้หมอนรองรางรถไฟ[ads]
ประโยชน์อื่นๆ พบว่า เป็นตัวเอื้อประโยชน์ในการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซ่า ทั้งในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ซึ่งเรียกว่า เห็ดยาง นำไปเป็นอาหารได้ น้ำมันยางผสมกับชัน ใช้ทาไม้ เครื่องจักสาน ยาเรือ และใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ บางท้องที่ใช้น้ำมันจากต้นยางทำขี้ไต้จุดไฟ
ปัจจุบัน ปริมาณไม้ยางนาในประเทศลดลงมาก เนื่องจากการบุกรุกทำลายป่า เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ใกล้ๆ แหล่งน้ำที่มีไม้ยางนาขึ้นอยู่ จะเป็นที่ต้องการเพื่อการเพาะปลูกมาก การเจาะโคนไม้ยางเพื่อเอาน้ำมันยาง โดยใช้ไฟสุมและเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำลายแหล่งพันธุกรรมไม้ยางนา จึงควรที่มีการอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกกันต่อไป
ขอขอบคุณที่มาจาก: องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้