วันที่ 6 ส.ค.2564 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค นายจิรายุ พูลทวี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค และเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติไทรโยค 20 นาย ได้เดินทางไปปิดประกาศคำสั่งให้ นายวสันต์ สดใส เจ้าของ “รีสอร์ตแพไทรโยคโฟลทเทล” ราคาประมาณ 20 ล้านบาท ในบริเวณแม่น้ำแควน้อย บ้านไทรโยคใหญ่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ให้เคลื่อนย้ายรีสอร์ตแพดังกล่าว ออกไปให้พ้นจากแม่น้ำแควน้อย ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ภายใน 30 วันนับแต่วันติดป้ายประกาศคำสั่งนี้
สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2560 อุทยานฯไทรโยค ตรวจยึดรีสอร์ตแพดังกล่าว และแจ้งข้อหานายวสันต์ ข้อหา “ก่อสร้าง และยึดถือครอบครอง ที่ดิน และแม่น้ำ ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยคโดยมิได้รับอนุญาต” ก่อนส่งดำเนินคดี สภ.ไทรไทรโยค ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2561 อัยการจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวสันต์ เพราะขาดเจตนาการกระทำผิด ทำให้คดีอาญายุติไป โดยห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 147
สำหรับคดีปกครอง ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้นายวสันต์ เคลื่อนย้ายรีสอร์ตแพดังกล่าว ออกไปให้พ้นจากแม่น้ำแควน้อย ในอุทยานแห่งชาติไทรโยค ซึ่งนายวสันต์ไม่อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีหนังสือที่ 52/2564 ลงวันที่ 19 พ.ค.2564 รับรองคดีถึงที่สุดในคดีนี้ด้วย
นายนิพนธ์ กล่าวว่า คดีนี้แม้อัยการจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งไม่ฟ้องนายวสันต์ เพราะขาดเจตนากระทำผิดก็ตาม แต่รีสอร์ตแพดังกล่าวก็ยังอยู่ในแม่น้ำแควน้อยในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ประกอบกับศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้นายวสันต์ เคลื่อนย้ายรีสอร์ตแพออกไปให้พ้นแม่น้ำแควน้อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค จึงมีอำนาจในการประกาศคำสั่งให้นายวสันต์ เคลื่อนย้ายรีสอร์ตแพดังกล่าวไปให้พ้นจากแม่น้ำแควน้อยในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยคได้
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า และหากนายวสันต์ ดื้อดึงไม่เคลื่อนย้ายรีสอร์ตแพดังกล่าวภายใน 30 วันแล้ว หัวหน้าอุทยานฯไทรโยค จะเข้าเคลื่อนย้ายรีสอร์ตแพดังกล่าวด้วยตนเอง และนายวสันต์ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายรีสอร์ตแพดังกล่าวให้กับทางราชการเป็นจำนวนเงิน 5 แสนบาทอีกด้วย[ads]
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากไม่เคลื่อนย้ายจะมีความผิด ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ฉบับใหม่ ตามมาตรา 35 (1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่าหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ที่สั่งให้บุคคลออกจากอุทยานแห่งชาติ หรือให้งดเว้นการกระทำใดๆ หรือให้เคลื่อนย้ายสิ่งของออกจากอุทยานแห่งชาติ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานแล้วต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และบุคคลนั้นยังต้องระวางโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ อาจมีความผิด ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ 2542 มาตรา 3 (15) เป็นความผิดเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า ซึ่งจะต้องถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยึดทรัพย์สินต่อไปด้วย
เรียบเรียงโดย: tkvariety