จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ "สอบถามหน่อยครับรถเกิดอุบัติเหตุหนักไม่สามารถซ่อมได้ ทำไมซากรถต้องเป็นของไฟแนนซ์ ประกันชั้น1 จ่ายเต็ม หักหนี้ที่ค้างกับไฟแนนซ์หมดพอดี" วันนี้เราจะพาเพื่อนๆไปหาคำตอบพร้อมๆกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีรถเสียหายโดยสิ้นเชิง
เวลาอุบัติเหตุรถพังยับ บริษัทประกันจะประเมินว่าหากการซ่อมแซมให้รถกลับมาอยู่ในสภาพเดิมมีค่าใช้จ่ายมากเกินกว่า 70% ของมูลค่ารถ จะเข้าลักษณะรถเสียหายโดยสิ้นเชิง แบบนี้บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เราหรือผู้เอาประกันเต็มจำนวน ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ตั้งแต่ตอนซื้อ หรือเรียกว่า คืนทุนประกัน (ส่วนมากไม่เกิน 80% ของมูลค่ารถขณะซื้อประกัน)
ตัวอย่างคือหากในเวลานั้นรถยนต์ของเรามีมูลค่า 100,000 บาท และเสียหายจนค่าใช้จ่ายในการซ่อมสูงกว่า 70,000 บาท รถคันนี้ถือว่าเสียหายโดยสิ้นเชิง
โดยทั่วไปแล้วการเรียกทุนประกันคืนเต็มจำนวนนั้น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ (อาจเป็นเจ้าของรถเองหรือในกรณีที่รถยังผ่อนไม่หมดคือบริษัทไฟแนนซ์) จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ตัวรถและทะเบียนรถคันที่เกิดอุบัติเหตุ ไปเป็นของบริษัทประกัน และความคุ้มครองตามกรมธรรม์จะสิ้นสุดลงทันที หรือก็คือการขายซากรถนั่นเอง
แต่ในทางตรงกันข้าม หากไม่ต้องขายซากรถให้กับบริษัทประกัน ผู้เอาประกันจะได้รับค่าสินไหมลดลงจากเดิม และสามารถนำซากรถไปจัดการเอง ซึ่งความคุ้มครองตามกรมธรรม์จะสิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นทุกครั้งที่จะซื้อประกันภัยรถยนต์ควรเปรียบเทียบ “ทุนประกัน” ของหลายๆ บริษัทสักหน่อย เพราะส่วนมากแล้วเรามักเลือกซื้อประกันที่ราคาของเบี้ยประกันเป็นหลัก
ความคิดเห็นชาวเน็ต
"แนะนำให้กลับไปอ่านสัญญาเช่าซื้ออีกรอบครับ กรรมสิทธิ์ยังเป็นของบริษัทไฟแนนซ์ คุณเป็นเพียงผู้เช่าซื้อ ไม่มีสิทธิในตัวรถจนกว่าจะผ่อนหมด เขาถึงใช้คำว่า ขายซากคืนทุน"
"อยู่ที่ประกันเขาตีปิดรวมซากไหม บางทียอดประกันไม่พอเขาเลยตีราคาซากรวมไปด้วยครับ เพราะถ้าหักลบเหลือเราก็รับซากไปพร้อมจ่ายค่าโอนเล่ม"
อย่างไรก็ตาม ด้านเจ้าของรถยังบอกอีกว่า "ยอดเหลือ 4 แสนกว่า ทุนประกัน 5 แสน ประกันจ่ายเต็ม" ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าเงื่อนไขในข้อสัญญาเป็นแบบไหน แต่ส่วนมากถ้างวดยังไม่หมดสัญญาไม่ได้เขียนระบุไว้ว่า ซากต้องเป็นของเรา
เรียบเรียงโดย : tkvariety.com