ต้นไม้ที่เราเห็นตามริมทางริมถนน หรือ แม้กระทั่งเวลาขับไปเที่ยวบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า เอ้ะ เจ้าต้นไม้นี่ มันชื่ออะไรนะ โดยเฉพาะเวลาที่เราขับรถในช่วงหน้าร้อน หน้าฝน เราก็จะไม่ค่อยเห็นต้นไม้เหล่านี้ ออกดอกออกผลเลย จนทำให้อดคิดต่อไม่ได้ว่าต้นไม้เขียวๆเหล่านี้ หรือ บางทีเหลือแต่ก้านบ้าง ตอนที่พวกเค้าออกดอกผลิบานเนี่ย มีสีอะไรกันนะ
วันนี้ให้เราจะพาไขข้อข้องใจ นำเสนอต้นไม้ ที่เราชอบเห็นกันจนชินตา มาให้เพื่อนๆ รับชมกันไปดูกันเลยว่ามีชื่อว่ากันอย่างไรบ้าง
1.ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซากุระเมืองไทย กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร จะออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก นางพญาเสือโคร่งถูกปลูกขึ้นบนพื้นที่ต้นน้ำลำธารมาเป็นเวลา 10 ปี แล้วปรากฏว่าได้ผลดี เป็นไม้ที่มีเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ผ่านการทำไร่เลื่อนลอย หรือบนพื้นที่สูงแต่ไม่ควรปลูกบนพื้นที่ซึ่งมีลมพัดจะทำให้กิ่งก้านหักได้ง่ายขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ประโยชน์ของต้นนางพญาเสือโคร่งนั้น นอกจากสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้แล้ว ผลของพญาเสือโคร่งยังสามารถนำมารับประทานได้ มีรสเปรี้ยว
แม้ว่านางพญาเสือโคร่งจะถูกเปรียบเปรยเป็นซากุระ แต่พญาเสือโคร่งมีความแตกต่างจากซากุระ คือช่วงเวลาออกดอกไม่ตรงกัน โดยซากุระออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน ส่วนนางพญาเสือโคร่งออกดอกในเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม พืชทั้งสองอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ Rosaceae (วงศ์กุหลาบ) และมีการสันนิษฐานว่า นางพญาเสือโคร่งและซากุระมีบรรพบุรุษร่วมกันทางตอนใต้ของจีนและวิวัฒนาการออกไปจนมีสายพันธุ์มากมาย มีสีที่หลากหลาย
2.ชมพูพันธุ์ทิพย์ ชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นต้นไม้เขตร้อนมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ก่อนจะมีการนำไปปลูกในประเทศต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย รวมถึงประเทศไทย โดยหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นผู้นำต้นชมพูพันธุ์ทิพย์เข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 พร้อมกับตั้งชื่อเรียกเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้นำเข้าและสีของดอกว่า ชมพูพันธุ์ทิพย์
ชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นต้นไม้ขนาดกลาง ผลัดใบ ความสูงประมาณ 8-25 เมตร แตกกิ่งแผ่กว้างเป็นชั้น เรือนยอดรูปไข่หรือทรงกลม ลำต้นขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาลหรือสีเทา แต่เมื่อมีอายุมากเปลือกลำต้นจะแตกเป็นร่อง กิ่งเปราะหักง่าย ใบเป็นใบประกอบรูปนิ้วมือ ใบเรียงตรงกันข้าม มีใบย่อย 5 ใบ แผ่นใบหนาขอบเรียบ สีเขียวเข้ม ปลายใบเรียว โคนใบสอบ ใบคล้ายรูปไข่แกมรูปรี ความกว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 7.5-16 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ กระจุกตามกิ่ง ช่อละ 5-8 ดอก กลีบดอกมีทั้งสีชมพูอ่อน ชมพูสด และสีขาว ตรงกลางดอกสีเหลือง ดอกบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร โดยทิ้งใบในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม และออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน นอกจากนี้ยังมีฝักกลม ยาว 15-30 เซนติเมตร เมล็ดแบน สีน้ำตาล
3.ดอกราชพฤกษ์ หรือ ดอกคูน ต้นไม้มงคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ดอกไม้ประจำชาติไทย ทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้วจะเสริมให้คนในบ้านมีเกียรติยศชื่อเสียงมากขึ้นด้วย
ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน เป็นต้นไม้พื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า และศรีลังกา โดยนิยมปลูกกันมากในเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง และเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาหลายสิบปี โดยมีการเสนอให้ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด จนกระทั่งมีการลงนามให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544
4.ดอกเหลืองปรีดียาธรหรือตาเบบูยาเหลือง ถิ่นกำเนิดอยู่ที่อเมริกากลางและหมู่เกาะอินดีสตะวันตก เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่ เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องขรุขระ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ซึ่งจะออกดอกช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.โดยถือเป็นไม้ยืนต้นมงคลอีกชนิดหนึ่ง
5.อินทนิลน้ำ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เจริญเติบโตเร็วหากปลูกในที่เหมาะสม ต้นมีความสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นเล็กและมักคดงอ แต่พอใหญ่ขึ้นจะเปลาะ ตรง เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว โคนต้นไม้ไม่ค่อยพบพูพอน มักมีกิ่งใหญ่แตกจากลำต้นสูงเหนือจากพื้นดินขึ้นมาไม่มาก จึงมีเรือนยอดที่แผ่กว้าง เป็นพุ่มลักษณะคล้ายรูปร่ม และคลุมส่วนโคนต้นเล็กน้อยเท่านั้น
ถ้าเป็นต้นที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่า มักจะมีเรือนยอดคลุมลำต้น ประมาณ 9/10 ส่วนของความสูงของต้น ส่วนผิวเปลือกต้นอินทนิลน้ำ จะมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน มักจะมีรอยด่าง ๆ เป็นดวงขาว ๆ อยู่ทั่วไป ผิวเปลือกจะค่อนข้างเรียบ ไม่แตกเป็นร่องหรือเป็นรอยแผลเป็น เปลือกมีความหนา ประมาณ 1 เซนติเมตร ที่เปลือกในจะออกสีม่วง นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
6.ดอกหางนกยูงฝรั่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นโตเต็มที่สูงราว 12 – 18 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างทรงกลมคล้ายร่ม แผ่กิ่งก้านออกคล้ายจามจุรี แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมขาวถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน มักมีรากโผล่พ้นดินออกโดยรอบเมื่อโตเต็มที่ บเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับและมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ขนาดใบย่อยใกล้เคียงกับใบย่อยของมะขาม แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายกลมโคนเบี้ยว ผิวใบเกลี้ยง เป็นพืชผลัดใบในประเทศไทยมักผลัดใบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน
ออกดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่งดูงดงามเป็นพิเศษ ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ และเกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก กลีบดอกหางนกยูงความจริงประกอบด้วยสี 2 สี คือสีแดงและสีเหลือง แต่ส่วนใหญ่จะมี 2 สีนี้อยู่ด้วยกันจึงเห็นเป็นสีแสด ดอกใดที่สีเหลืองมากกว่าก็เป็นสีแสดออกเหลือง ดอกใดสีแดงมากกว่าก็เป็นสีแสดออกแดง แต่ก็มีหางนกยูงบางต้นออกดอกสีแดงแท้ๆ และบางต้นออกดอกสีเหลืองบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยาก โดยทั่วไปจึงพบแต่หางนกยูงฝรั่งสีแสด ทั้งนี้ผลของหางนกยูงฝรั่งเป็นฝักแบนโค้งรูปดาบ และเมล็ดเรียงตามขวาง
ในช่วงหน้าร้อน หน้าฝน เราก็จะไม่ค่อยเห็นต้นไม้เหล่านี้ ออกดอกออกผลเลย หวังว่าจะช่วยไขข้อสงสัยให้หลายท่านได้นะคะ ต้นไม้สวยๆที่ ท่านเห็นเวลาขับรถนั่นคือต้นไม้เหล่านี้และจ้า แต่ละต้นนั้นชื่อจำยากเหมือนกันนะคะ อิอิ
เรียบเรียงโดย: tkvariety