กลายเรื่องที่น่าสนใจและสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับเรื่องของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง สอบติดคณะแพทยศาสตร์ แต่บ้านยากจนมีเงินติดบ้านแค่ 1,500 บาท จึงออกมาโพสต์เพื่อขอความช่วยเหลือจากสังคม หลังจากนั้นมีประชาชนร่วมกันบริจาคเงินเข้าไปในบัญชีของเด็กนักเรียนคนนี้ ประมาณสามล้านบาทเศษ ต่อมามีนักสืบออนไลน์ได้เปิดเผยข้อมูลบางอย่างที่เชื่อว่าเด็กนักเรียนคนนี้ ไม่ได้จนอย่างที่ออกมาโพสต์ขอความช่วยเหลือ เป็นที่มาของคำว่า “จนทิพย์” โดยทนายเจมส์ ได้มาไขข้อสงสัยว่า
กระแสวิพากษ์วิจารณ์แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่า เด็กนักเรียนคนนี้ไม่ได้จนอย่างที่ออกมาให้ข่าว และหากอยากจะเปิดรับบริจาค ก็ควรที่จะดิ้นรนจนถึงที่สุดก่อน ไม่ไหวแล้ว ค่อยมาขอรับบริจาคจะเหมาะสมกว่านี้ บางท่านก็ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่กู้ทุน กยศ. หรือขอทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมองว่า การที่น้องมีสิ่งของส่วนตัวก็เป็นเรื่องปกติ เมื่อมองจากสภาพครอบครัวโดยรวมแล้ว ก็ยังถือว่า ครอบครัวของน้องต้องรับภาระหนัก เพราะการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง และวัตถุประสงค์ในการบริจาค คือ อยากให้ประเทศไทยมีแพทย์เพิ่มอีกหนึ่งคน
ปัจจุบันหน่วยงานราชการได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมการใช้เงินที่ได้รับบริจาคมาจากประชาชนดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การบริจาคของประชาชนผู้มีจิตศรัทธาที่อยากจะให้เด็กนักเรียนคนนี้มีทุนในการศึกษาคณะแพทยศาสตร์จนจบ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากมีบุคคลที่ไม่ได้ยากจนจริง แต่กลับมาเปิดรับบริจาค โดยนำข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ มาหลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินบริจาคนั้น จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
กรณีการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงนั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ย่อมมีความผิดในข้อหาฉ้อโกง และหากมีพฤติการณ์ในการหลอกลวงประชาชนด้วย ก็จะมีความผิดในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีโทษหนักขึ้นอีก
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
มาตรา 343 "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1)โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่ การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
นอกจากนี้ผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากผู้กระทำความผิดได้อีกด้วย
ในส่วนการเปิดรับบริจาค เพื่อเป็นทุนการศึกษา ไม่มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 เนื่องจากไม่ได้อ้างว่า จะนำเงินดังกล่าวนั้นไปใช้ เพื่อประโยชน์แก่ราชการ เทศบาล หรือสาธารณประโยชน์ กรณีจึงไม่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
อุทาหรณ์ของเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า คนไทยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่การที่จะบริจาคเงินให้กับใครนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาให้รอบคอบ หากท่านใจดีเกินไป ก็อาจจะเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยอาศัยความใจดีของท่าน เพื่อแสวงหาประโยชน์อันไม่ชอบด้วยกฎหมายจากท่านก็เป็นไปได้ครับ[ads]
สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่า น่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับเด็กนักเรียนคนนี้ แต่ก็เป็นบทเรียนที่สำคัญ ทำให้กับคนที่กำลังคิดที่จะทำในลักษณะนี้ ก็ต้องคิดให้มากยิ่งขึ้น เพราะถ้านักสืบออนไลน์เห็นข้อพิรุธ ท่านก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีเช่นกัน
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลสอบถามได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยจ้า หวังว่าจะไขข้อสงสัยให้กับหลายคนได้นะคะ
ขอขอบคุณที่มาจาก: ทนายเจมส์ LK