จากกรณีพบโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ระบาดในโค กระบือ โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีตุ่มนูนแข็งขึ้นตามลำตัว มีสะเก็ดแผล ต่อมน้ำเหลืองบวมโต อาจมีไข้สูง ซึม อาจพบตาหรือข้ออักเสบ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยติดจากพาหะหลักคือ แมลงดูดเลือด ยุง เห็บ เหลือบ แมลงวัน นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 หลายจังหวัดทางภาคอีสาน คือ จ.ยโสธร, สกลนคร และ จ.กาฬสินธุ์ ประกาศกำหนดเขตโรคระบาด ลัมปี สกิน ในทุกอำเภอ ห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายโค-กระบือ ภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในขณะนี้
ขั้นตอนแนะนำเมื่อมีสัตว์เป็นโรคลัมปี สกิน ให้เกษตกรแยกกัก เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส และมีแมลงเป็นพาหะ ไม่มียารักษาโรค แต่สามารถรักษาได้ตามอาการ ด้วยการใช้ยาทาแผลบริเวณตุ่มที่เกิดตามลำตัว หรือฉีดยาฆ่าเชื้อเพื่อไม่ให้ลุกลาม แม้โรคนี้มีการระบาดหลายพื้นที่ แต่อัตราการป่วยตายอยู่ที่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกษตรกรอาจจะป้องกันด้วยการนำโคกระบือเข้าคอก ก่อไฟไล่ยุง หรือนำมุ้งมากางเพื่อป้องกันแมลง เป็นต้น
ด้าน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เร่งรัดให้นำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน (LSDV) จำนวน 60,000 โดส เพื่อใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคในโค-กระบือ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ราว 20 จังหวัด[ads]
ส่วนวัคซีนนั้น คาดว่าจะได้รับวัคซีนวันที่ 28 พฤษภาคม นี้ หลังจากผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอนในประเทศไทยแล้ว กรมฯ จะกระจายวัคซีนให้ถึงเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่เกิดโรค และในพื้นที่เสี่ยงสูง โดยเร็วที่สุด ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ขอขอบคุณที่มาจาก: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ , สำนักข่าวไทย