จากกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เสาไฟกินรี ในพื้นที่ราชาเทวะ โดยพบว่าเสาแต่ละต้นมูลค่าเกือบ 1 แสนบาท ประกอบกับจุดที่ติดตั้งเป็นพื้นที่ที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่าเกินความจำเป็นหรือไม่ เพราะเป็นถนนลูกรังทางแคบ ๆ ล่าสุดนายก อบต. แจงกรณี ดราม่าเสาไฟกินรี ใช้งบเกินความจำเป็น
นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ เปิดเผยว่า โครงการติดตั้งเสาไฟกินรี เป็นโครงการของงบประมาณ 62 – 64 ติดตั้งจำนวน 6,773 ต้น ด้วยงบประมาณ 461 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณตามแผนที่มีการประชาคมกับชาวบ้านในพื้นที่มาก่อนแล้ว โดยเสาไฟกินรีใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลงทุนครั้งเดียวต้นละ 94,844 บาท
โดยโครงการนี้ได้มีการสอบถามราคาจัดทำเสาไฟกินรีที่มีตัวเสา รวมถึงแผงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากผู้ประกอบการหลาย ๆ เจ้า แล้วจึงนำราคาที่ต่ำสุดมาเป็นราคากลาง จากนั้นจึงเปิดประมูลโครงการในระบบ E-Bidding ให้ผู้ประมูลเข้ามาเสนอราคาแข่งขันกัน โดยที่ยืนยันว่า อบต.ราชาเทวะ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ เป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่จะแข่งขันราคากันในระบบ E-Bidding ของกรมบัญชีกลาง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าทุกตรอกซอกซอยมีเสาไฟกินรีอยู่ทั่วไปหมด ในเนื้อที่ 31 ตารางกิโลเมตร หรือ 10 กว่าหมู่บ้าน และอนาคตยังมีแผนที่ติดตั้งเพิ่มอีก แต่อยู่ระหว่างรออนุมัติงบประมาณ ซึ่งการติดตั้งเสาไฟในจุดดังกล่าวมีความจำเป็น ก็เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในกับประชาชน และบางทีมีชาวต่างชาติเข้ามา จึงต้องทำให้มันดูดีเป็นประตูสู่ประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่ อบต.ราชาเทวะ เป็นที่ตั้งสนามบินสุวรรณภูมิ[ads]
นายทรงชัย กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการติดตั้งอาจมีบางจุดที่ถี่เนื่องจากบางจุดอาจจะติดหน้าบ้านประชาชน หรือเป็นหัวโค้ง แต่มาตรฐานตั้งไว้ 22 เมตร ซึ่งที่ถูกกระแสโจมตี ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นเรื่องของการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม คนที่ด่าตนในโซเชียลเชื่อว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ อยากท้าให้มาถามคนในพื้นที่ว่าได้ประโยชน์หรือไม่
เรียบเรียงโดย: tkvariety