วันที่ 16 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย ประกาศสำรวจรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ด้วยงบประมาณ 372,546,800 บาท ในพื้นที่ 70 จังหวัด เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักการออกโฉนดที่ดินที่มีการรังวัดปักหลักเขต และการเตรียมตัวของ “เจ้าของที่ดิน” ต่อเจ้าหน้าที่ในวันที่ได้รับการสำรวจ รวมถึงข้อมูลค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสีย
สำรวจออกโฉนดที่ดิน คืออะไร ข้อมูลจาก กรมที่ดิน ระบุว่า การเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินที่มีการรังวัดปักหลักเขต ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58, 58 ทวิ และ 69 เป็นการออกโฉนดที่ดินที่กรมที่ดินส่งเจ้าหน้าที่จากกองหนังสือสำคัญ กรมที่ดิน ไปทำการเดินสำรวจเป็นหมู่บ้านหรือตำบล โดยประชาชนไม่ต้องมายื่นคำขอ
เจ้าของที่ดินหรือตัวแทนจะต้องนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดและปักหลักเขตเจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวนสิทธิในที่ดิน พร้อมทั้งให้ลงชื่อในเอกสารการสอบสวน และลงชื่อรับรองเขตที่ดินข้างเคียง
ประเภทการสำรวจออกโฉนดที่ดินที่มีการรังวัดปักหลักเขต การสำรวจออกโฉนดที่ดินที่มีการรังวัดปักหลักเขต มี 2 ประเภท
1. การเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินโดยการสร้างระวางแผนที่ หรือเรียกว่า “การเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินภาคพื้นดิน” จะดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้าน หรือพื้นที่ที่มีสิ่งปกคลุม เช่น ที่สวน ที่ไร่ ซึ่งไม่เห็นรายละเอียดในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ
2. การเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินโดยใช้ระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ เป็นการออกโฉนดที่ดินที่คล้ายกับข้อ 1.1 แต่ไม่ได้สร้างระวางแผนที่ โดยเจ้าหน้าที่จะนำระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศไปทำการหมายหลักเขตและตำแหน่งที่ดินไว้ในระวางแผนที่ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่โล่ง เช่น ที่นา
ขั้นตอนการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินที่มีการรังวัดปักหลักเขต
1. เจ้าหน้าที่จะไปประชุมนัดหมายการรังวัดและสอบสวนสิทธิ
2. เจ้าของที่ดินไม่ต้องมายื่นคำขอ แต่ต้องเตรียมการ ดังนี้
-นำหลักเขตไปปักตามมุมเขตที่ดินของตน
-นำเจ้าหน้าที่เดินสำรวจฯ เพื่อทำการรังวัด
-เตรียมเอกสารมอบให้เจ้าหน้าที่ เช่น หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (ส.ค. 1 น.ส.3 น.ส.3 ก. หรือ น.ส. 3 ข. (เป็นต้น) สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน
-ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ และลงชื่อในแบบสอบถามการออกโฉนดที่ดิน
3. เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเป็นกลุ่มหมู่บ้านและตำบล และประกาศแจกโฉนดที่ดิน 30 วัน
4. ประกาศแจกที่ดินให้ปิดในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่และในบริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีกหนึ่งฉบับ
5. เจ้าหน้าที่นัดหมายการแจกโฉนดที่ดิน
การสำรวจออกโฉนดที่ดินจะดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการเดินสำรวจ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
1. ดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการเดินสำรวจ
ระยะเตรียมการ
วันที่ 1 ตุลาคม-14 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางส่วนกลาง เพื่อเตรียมข้อมูลและวางแผนการปฏิบิติงานภาคสนาม
วันที่ 15 ธันวาคม-31 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่เตรียมการในภาคสนาม
ระยะเวลาปฏิบัติงานภาคสนาม
วันที่ 1 มกราคม 2565-31 กรกฎาคม 2565 : เจ้าหน้าที่เดินสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดินและสอบเขตที่ดิน สอบสวนสิทธิในที่ดิน
วันที่ 15 มกราคม 2565-15 สิงหาคม 2565 : รังวัดโยงยึดหลักเขตที่ดิน
วันที่ 16 สิงหาคม 2556-30 กันยายน 2565 : ระยะเวลาตรวจสอบเอกสาร ระวางแผนที่ และส่งมอบงานให้แก่สำนักงานที่ดินที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 1 ตุลาคม 2565 : เจ้าหน้าที่เดินทางกลับกรมที่ดิน
วันที่ 1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2565 : ระยะเวลาเช่าที่สถานที่ตั้งศูนย์อำนวยการสำรวจฯ
2. ดำเนินการโดยสำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขา/ส่วนแยก
ระยะเตรียมการ
วันที่ 1 ตุลาคม 2564-วันที่ 31 ธันวาคม 2564
ระยะเวลาปฏิบัติงานภาคสนาม
วันที่ 1 มกราคม 2565-วันที่ 31 สิงหาคม 2565
ระยะเวลาสรุปผลงานและส่งมอบงาน
วันที่ 1 กันยายน 2565-วันที่ 30 กันยายน 2565
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินที่มีการรังวัดปักหลักเขต มีดังนี้
-ค่าธรรมเนียมออกโฉนดที่ดิน เนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ แปลงละ 50 บาท
-(เนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน ไร่ละ 2 บาท โดยเศษของไร่คิดเป็นหนึ่งไร่)
-ค่าหลักเขตเหมาจ่าย แปลงละ 60 บาท (ไม่ว่าจะใช้หลักเขตกี่หลักก็ตาม)
-ค่ามอบอำนาจ หากมี จะต้องเสียค่ามอบอำนาจเพิ่มเรื่องละ 20 บาท
-อากรปิดในหนังสือมอบอำนาจเรื่องละ 30 บาท
สำหรับการสำรวจรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ประกอบด้วย 70 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้แก่
กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช
นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี
ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ
เจ้าของที่ดินหรือตัวแทนจะต้องนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดและปักหลักเขตเจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวนสิทธิในที่ดิน พร้อมทั้งให้ลงชื่อในเอกสารการสอบสวน และลงชื่อรับรองเขตที่ดินข้างเคียง ตามวันเวลาที่กำหนดยังไงก็ขอให้ติดตามข่าวสารกันด้วยนะคะ
เรียบเรียงโดย: tkvariety