บ้านเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่บ่งบอกถึงบุคคลิกภาพของผู้อยู่อาศัย ซึ่งหากใครที่กำลังมองหาแบบบ้านสวยๆ และตอบโจทย์ลองดูไว้เป็นไอเดีย โดยทางเพจ BuilderNews ได้ออกมาโพสต์ภาพบ้าน ผลงานของ Yoshichika Takagi + Associates โดยจากโพสต์นั้นได้ระบุว่า
บ้านเซ็กซี่ด้วยผนังซีทรูจากพลาสติกลูกฟูก ผลงานของ Yoshichika Takagi + Associates สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากแดนปลาดิบ
บ้านควรจะอยู่ให้อุ่นใจปลอดภัยก็จริง แต่สำหรับเมืองที่มีความปลอดภัยดีอยู่แล้วอย่างญี่ปุ่น โอกาสจะได้เห็นไอเดียการออกแบบแหวก ๆ จับบ้านมาสร้างให้ดูเซ็กซี่ขึ้น มองทะลุเห็นด้านในอย่างนี้น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าบ้านเรา

Yoshichika Takagi + Associates คือสตูดิโอเจ้าของผลงานบ้านโปร่งแสงหลังนี้ พวกเขาปรับเปลี่ยนบ้านชานเมือง Furano ดั้งเดิมที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1974 ให้ดูโมเดิร์นและแปลกตาขึ้น โดยถอดผนังตีซ้อนเกล็ด (Clapboard) เดิมที่ทำจากไม้ออก แล้วแทนที่ด้วยแผ่นเมทัลชีทสีดำ 3 ด้านของบ้าน
ขณะที่ส่วนที่เหลืออีกด้านของบ้านก็ใช้แผ่นพลาสติกลูกฟูกโปร่งแสงเข้ามาประกบด้านหน้าทำให้บ้านดูโปร่งแสง แต่ยังคงปกปิดความเป็นส่วนตัวได้จากคลื่นลูกฟูก ทำให้ดูไม่ใสแจ๋ว เทียบแล้วก็เหมือนการจับบ้านใส่ชุดซีทรู จะว่าโป๊เปลือยก็ไม่ใช่ จะคล้ายเรือนกระจกก็ไม่เชิง และจากความแปลกนี้ทำให้ Yoshichika Takagi + Associates ตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่า Deformed Roofs of Furano ให้สะท้อนคอนเซ็ปต์ความผิดปกติ สอดคล้องกับรูปแบบอาคารที่หลังคาไม่ได้สมมาตรเหมือนชาวบ้าน แต่ดันหักมุมไปมาเหมือนนักออกแบบเอาแต่ใจที่ไม่มีแบบแผนตายตัว

“บ้านหลายหลังแนวนี้ถูกเรียกว่าเป็นบ้านแบบ “Deformed Roof” หรือบ้านหลังคาไม่สมส่วนอย่างนี้ ส่วนใหญ่เราจะเห็นได้บ่อย ๆ ที่ฮอกไกโด ความก้ำกึ่งแบบที่เรียกเต็มปากไม่ได้ว่าสวย ดูจะเป็นเอกลักษณ์ที่หาดูที่ไหนไม่ได้นอกฮอกไกโดแล้ว”
“พื้นฐานการออกแบบหลังคานี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการส่งต่อรูปแบบความคิดของ Hokkaido ไปสู่คนยุคต่อ ๆ ไป”

นอกจากการปรับบ้านให้ผนังดูแตกต่างจากบ้านเดิมแล้ว สิ่งที่สตูดิโอเขาออกแบบมาให้สอดคล้องกันคือการขยายเฟรมของบ้านออกไปอีก 1.8 เมตรใต้ส่วนที่เป็นจั่วของตัวบ้านด้วย ส่วนขยายนี้ถูกต่อให้สูงขึ้นแล้วล้อมด้านข้างด้วยชีทพลาสติกลูกฟูกอีกทีจึงทำให้บ้านดูคล้ายเรือนกระจก
ด้านการออกแบบภายในก็น่าสนใจ เพราะบ้านแบ่งเป็น 2 ส่วนสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เด็กอยู่ชั้นล่าง เป็นห้องเตียงแฝด ขณะเดียวกันก็มีส่วนที่จัดสรรไว้เป็นพื้นที่สำหรับห้องครัว ห้องดินเนอร์เล็ก ๆ และห้องที่ปูด้วยเสื่อทาตามิ สไตล์บ้านญี่ปุ่นที่เราคุ้นตา
ขึ้นบันไดไปชั้นบนเป็นส่วนการใช้งานของผู้ใหญ่ มีครัวเปิดรูปแบบบาร์สำหรับนั่งกินข้าวเช้าบริเวณส่วนกลางของบ้าน แต่ถ้าต้องการมองวิวมากกว่านั่งบาร์ โต๊ะกินข้าวพร้อมเก้าอี้ที่อยู่บริเวณถัดจากระเบียงก็เป็นอีกพื้นที่ทางเลือกที่น่าสนใจ และเมื่อเดินขึ้นบันไดไปขั้นบนสุดยังมีห้องใต้หลังคาเปิดรับแสงธรรมชาติให้เราเก็บของหรือนอนได้สะดวกด้วย
การรีโนเวตที่ใช้โครงเก่ามาเล่าใหม่ ใช้ Material แปลก ๆ ที่เราไม่เคยเห็นแบบนี้ ถือว่าเป็นการเปิดโลกด้านการออกแบบให้เรามองทะลุกรอบเดิม ๆ ที่เคยขังเราไว้ ใครจะคิดว่าบ้านที่เราอยู่อาศัยแค่เปลี่ยนวัสดุ ความรู้สึกก็เปลี่ยนแปลงได้อย่างสิ้นเชิง
ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนที่ไม่รื้อโครงสร้างเดิม แต่ส่งเสริมให้เหมาะกับยุคสมัยเหล่านี้ยังสะท้อนให้เราเห็นอีกมุมด้วยว่า “ของดี รากฐานเดิม” จะไม่เปลี่ยนก็ไม่แย่ แต่ต่อเติมความล้ำสมัยเข้าไปให้เหมาะกับบริบทการใช้งานก็ทำให้บ้านน่าอยู่ แถมเวลาที่ลูกหลานมองกลับมา พวกเขายังได้เห็นมรดกการสร้างสรรค์อาคารในยุคก่อนได้อีกด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้หลายเด้งเชียว
เป็นอีกหนึ่งแบบบ้านที่สวยและลงตัวสุดๆ เพราะนอกจากจะได้บ้านที่สวยทันสมัยแล้ว ยังเป็นบ้านที่ช่วยประหยัดพลังงานเพราะสามารถรับแสงธรรมชาติได้เต็มๆ อีกทั้งยังมองเห็นวิวธรรมชาติได้สุด
ขอขอบคุณที่มาจาก : buildernews.in.th